พิศมัย วิไลศักดิ์ (เกิด 7 ธันวาคม พ.ศ. 2482) เป็นนักแสดงหญิงชาวไทย เจ้าของรางวัลเกียรติยศ "ดาราทองพระราชทาน" อีกทั้งยังมีผลงานร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียง เป็นครูสอนศิลปะการแสดง เจ้าของฉายา "ดาราเงินล้าน" และอีกฉายาในยุคหลังคือ "เบ็ตตี้ เดวิส เมืองไทย" มีผลงานการแสดงภาพยนตร์ราว 300 เรื่อง ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี
พิศมัย วิไลศักดิ์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) ประจำปี พ.ศ. 2553
พิศมัย วิไลศักดิ์ มีผลงานการแสดงทั้งภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และการร้องเพลงมาตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี โดยผลงานภาพยนตร์ที่สร้างชื่อเสียง ได้แก่ การะเกด (2501), ดรรชนีนาง (2504), จำเลยรัก (2506), ใจเพชร (2506), ดวงตาสวรรค์ (2507), ลูกทาส (2507), มงกุฎเพชร (2508), พิมพิลาลัย (2508), ชุมทางเขาชุมทอง (2508), สาวเครือฟ้า (2508), ดาวพระศุกร์ (2509), โนห์รา (2509), เมขลา (2510), อาญารัก (2510), อกธรณี (2511), มาดามยี่หุบ (2525) เป็นต้น
พิศมัย วิไลศักดิ์ ได้รับการยอมรับและการเคารพเรียก "มี้" จากทุกคนในวงการ "มี้" ย่อมาจาก "มามี้" ซึ่งหมายความว่า "แม่" ซึ่งต้นกำเนิดของการเรียกมี้เกิดจาก ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา เกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2482 ที่ตรอกสุเหร่าวัดตองปุ ย่านบางลำพู จังหวัดพระนคร บิดาชื่อ นายหงวน วิไลศักดิ์ อาชีพค้าขาย มารดาชื่อ นางปุย วิไลศักดิ์ พิศมัยเป็นลูกกำพร้าตั้งแต่เด็กในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากบิดามารดาเสียชีวิตด้วยพิษจากสงคราม พิศมัยจึงได้รับการเลี้ยงดูอุปการะในวังหลวงโดยคุณครูจำเรียง พุทธประดับ (ศิลปินแห่งชาติ) ระหว่างปี พ.ศ. 2494-2498 โดยพิศมัยมักจะเรียกคุณครูจำเรียง พุทธประดับ ว่า “แม่ครู” ทำให้พิศมัยกับแม่ครูจำเรียงผูกพันใกล้ชิดกันสนิทสนมกันเป็นอย่างดี พิศมัยจบการศึกษาจากโรงเรียนบำรุงวิทยา และ วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร
พิศมัยเริ่มแสดงละครเรื่อง ราชาธิราช ขณะนั้นพิศมัยมีอายุเพียง 10 ปี แสดงเป็นตัวทหารยืนเสาธรรมดา ที่โรงละครเก่าติดกับกำแพงมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปัจจุบัน) ต่อมาหลังจากพิศมัยเรียนจบจากโรงเรียนบำรุงวิทยา ก็ได้ก้าวเข้าสู่การเป็นดาราประจำโรงเรียนนาฏศิลป์ พิศมัยได้แสดงเป็นนางเอกละคร เรื่อง แว่นแก้ว ในขุนช้างขุนแผน ตอนพลายเพชรพลายบัวออกศึก ในปีต่อมาได้แสดงเป็นพระเอกโดยแสดงเป็นพระสังข์ ตอนหาปลา หลังจากนั้นเริ่มมีชื่อในการรำฉุยฉายพราหมณ์เป็นที่ขึ้นชื่อ
พิศมัย วิไลศักดิ์ แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกโดยชักนำของนักเขียนชื่อดังคือ ศักดิ์เกษม หุตาคม (อิงอร) เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2500 แสดงเป็นนางเอกเรื่อง การะเกด คู่กับ ลือชัย นฤนาท และ ชนะ ศรีอุบล เป็นที่รู้จักจากฉากรำฉุยฉายในเรื่อง ภาพยนตร์ฉายติดต่อกันประมาณ 2 เดือน ทำรายได้มากกว่า 2 ล้านบาท นับเป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเฟื่องฟู และทำให้พิศมัยแจ้งเกิดในฐานะนักแสดงในเวลาต่อมา และก้าวขึ้นการเป็นสู่นักแสดงชั้นนำของวงการบันเทิงไทยในช่วงยุค 50 และยุค 60
พิศมัยได้แสดงภาพยนตร์ต่อมาอีกประมาณ 300 เรื่อง ได้แสดงทุกบทบาทและทุกเรื่องที่แสดงได้รับความนิยมจากผู้ชม จนเชิด ทรงศรี ตั้งฉายาให้ว่า "ดาราเงินล้าน" และแฟนคลับวัยรุ่นในยุคหลังก็ตั้งฉายาให้อีกว่าเป็น "เบ็ตตี้ เดวิส เมืองไทย" พิศมัยมีผลงานที่มีชื่อเสียงได้แก่เรื่อง สองฝั่งฟ้า (2503), ดรรชนีนาง (2504), จำเลยรัก (2506), ดวงตาสวรรค์ (2506), โนราห์ (2509) ในจำนวนหลายเรื่องพิศมัยได้ใช้ความสามารถพิเศษในการรำไทย รับบทรำในเรื่องด้วย เช่น โนราห์ (2509), เมขลา (2510), สีดา (2511), หนึ่งนุช (2514), ค่าของคน (2514), สักขีแม่ปิง (2516), ระห่ำลำหัก (2518)
พิศมัย วิไลศักดิ์ มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกในปี พ.ศ. 2501 คือเพลง "การะเกด" ผลงานของ สุรัฐ พุกกะเวส และ สง่า อารัมภีร ในปี พ.ศ. 2504 ได้ขับร้องเพลง "หนาวตัก" เป็นเพลงประกอบในภาพยนตร์เรื่อง ดรรชนีนาง ประพันธ์ทำนอง โดย สมาน กาญจนผลิน และประพันธ์คำร้อง ศักดิ์เกษม หุตาคม (อิงอร) และในอีกหลายบทเพลงที่ได้รับความนิยมมากทำให้ได้รับเชิญให้ขึ้นแสดงคอนเสิร์ตช่วยการกุศลอยู่เนื่องๆ
ในปี พ.ศ. 2510 พิศมัย วิไลศักดิ์ ได้รับพระราชทานรางวัลดาราทอง จากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะผู้มีคุณสมบัติ 4 ประเภท คือ "ศรัทธา", "หน้าที่", "ไมตรี" และ "น้ำใจ" (ประเภท-นักแสดง) จัดโดย "สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย" ถือเป็นรางวัลพระราชทานที่จัดขึ้นครั้งเดียว ตามผลสำรวจ และความนิยมของประชาชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500-2510
ในปี พ.ศ. 2527 พิศมัย วิไลศักดิ์ ได้เริ่มแสดงละครโทรทัศน์เป็นครั้งแรกจาก เรื่อง “ห้องที่จัดไม่เสร็จ” แสดงทางช่อง 3 ต่อมาได้แสดงละครโทรทัศน์อีกกว่า 200 เรื่อง ในระยะหลัง พิศมัยจะรับงานแสดงละครทางโทรทัศน์ นอกจากงานแสดงแล้ว พิศมัยยังทำหน้าที่เป็นครูสอนศิลปะการแสดงให้กับนักแสดงอีกด้วย เช่น จินตหรา สุขพัฒน์, สันติสุข พรหมศิริ, ลิขิต เอกมงคล, ยุรนันท์ ภมรมนตรี, ฉัตรชัย เปล่งพานิช, กรรชัย กำเนิดพลอย, บุญพิทักษ์ จิตต์กระจ่าง ฯลฯ ในระยะหลัง พิศมัยวางมือทางด้านการสอนศิลปะการแสดงและส่งต่อให้กับ ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา เนื่องจากอายุที่มากขึ้น พิศมัยได้รับการยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) ประจำปี พ.ศ. 2553